2 ปีก่อนมีโอกาสได้จัด cross-cultural workshop ให้กับเด็กชายออสเตรเลียอายุ 10 ขวบคนนึงที่บ้านของเค้า และก็พบมุมน่าสนใจบางอย่างเกี่ยวกับครอบครัว เลยอยากเขียนเล่าให้ฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับพ่อๆแม่ๆหรือคนรอบๆตัวที่อาจจะคิดว่าเราควรที่จะฉายภาพความสุขของชีวิตเท่านั้น และเผลอกดข่มอารมณ์ทางลบที่ตัวเองไม่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นเอาไว้
เราขอเรียกชื่อสมมติเด็กคนนี้ว่าโคบี้นะ โคบี้เป็นนักกีฬาไตรกีฬาตามพ่อของเค้า พึ่งย้ายมาอยู่เมืองไทยกับครอบครัวเข้าสู่เดือนที่ 3 เป็นเด็กที่พร้อมเปิดตัวเองที่จะเรียนรู้ และเปิดรับสิ่งใหม่ๆด้วยความกระตือรือร้น ด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มอยู่ตลอด ดูเป็นเด็กที่ครบเครื่องความน่ารักตามนิยามสากล
แต่ตลอดทั้งวันเราพบว่าโคบี้พยายามสะกดตัวเองว่าฉันมีความสุขดีๆๆ (ซึ่งในความเป็นจริงก็ดูเหมือนชีวิตจะมีความสุขดีทีเดียว) โคบี้บอกว่าฉันชอบทุกอย่างที่เมืองไทย ฉันไม่มีปัญหาในการปรับตัวเลย ไม่มีอะไรสักนิดเดียวที่ไม่ชอบ ทุกแบบฝึกหัดโคบี้จะหลีกเลี่ยงการต้องพูดเรื่อง negative สิ่งที่ไม่ชอบ หรือทำให้ไม่สบายใจ แต่สุดท้ายหลังจากผ่านไปครึ่งค่อนวันเราก็พบว่ามันมีอยู่แหละสิ่งที่ไม่สบายใจ สิ่งที่ทำให้เครียด แต่ไม่อยากพูด รู้สึกการพูดมุม negative มันเป็นเรื่องไม่ดี โคบี้คิดว่าชีวิตมันต้องดีทุกอย่างสิ ฉันจะ control mind ของฉันว่าชีวิตฉันดีพร้อมทุกอย่าง ซึ่งถ้าเครียดปุ๊บ โคบี้จะพยายามตัดความรู้สึกทันที และจะไปเล่นกับหมา เอาตัวออกจากความรู้สึกนั้นแบบทันทีทันใด ขนาดมีแบบฝึกหัดเกี่ยวกับความรู้สีก ที่เราเห็นว่าแว๊บแรกโคบี้อยากจะบอกว่าฉันก็ “Okay”แหละ ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร แต่พอเหลือบไปเห็นว่ามีช่องความรู้สึก “Happy” มือก็พลอยจะไปติ๊กที่ช่องที่มันแสดงความ positive มากกว่าอยู่ตลอด รวมๆ เราเห็นว่าภายใต้ความน่ารักและพยายามมองโลกในแง่ดีนั้น ใต้ภูเขาน้ำแข็งมันมีความรู้สึกที่เค้าคิดว่าเค้าพูดไม่ได้ แม้แต่พูดให้ตัวเองฟัง หรือปล่อยให้ตัวเองได้รู้สึก ซึ่งถ้าปล่อยเอาไว้นานๆ โคบี้ก็อาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่คิดว่าต้องฉายภาพความสุขของชีวิตเท่านั้นโดยปฏิเสธความรู้สึกเชิงลบที่ก็เป็นธรรมดาของชีวิตเช่นกัน
จบวันก็เลยแชร์ให้พ่อแม่เค้าฟัง แล้วพอได้นั่งคุยกับพ่อแม่เค้า ก็พบว่าด้วยความเป็นนักกีฬาไตรกีฬาของพ่อที่ต้องบอกตัวเองให้ “สู้” ให้ “อดทนอดกลั้น” อยู่ตลอด และต้องจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเองนั้น มันก็ส่งผลมาถึงลูกด้วย สุดท้ายเราเห็นว่าโคบี้รับความเป็นพ่อในส่วนนี้มาเต็มๆ แต่ต่างกันตรงที่ว่าลูกยังมีประสบการณ์ชีวิตน้อยกว่ามาก ถ้าวันนึงเค้าเจอเรื่องที่หนักจริงๆ และต้องดีลกับมันเองตามลำพังในประเทศใหม่ที่พึ่งย้ายมานี้หล่ะ เค้าจะดีลกับมันยังงัย (ซึ่งเท่าที่รู้ background ก็เป็นเด็กที่โดนเพื่อน bully มาก่อนตอนอยู่ออสฯ)
ที่เขียนเล่ายาวขนาดนี้ มีสิ่งนึงที่คิดว่าเป็น message สำคัญของเรื่อง และเมื่อวานก็ดีใจที่อย่างน้อยคุณพ่อของเด็กก็ได้รับ message นี้ไป มันคือทำยังงัยหล่ะที่เราจะเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เค้าแชร์ความรู้สึกและรับรู้ว่าเค้ามีครอบครัวที่ร่วมแชร์ทุกอย่างไปด้วยกัน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย และให้เค้าไว้วางใจตัวเองที่จะรู้สึกว่า “It is okay to not be okay” ก่อนที่จะเป็น “It’s gonna be okay”